จากประวัติของสตรอเบอรี่แล้วไม่อยากเชื่อว่าแต่เดิมสตรอเบอรี่เป็นสกุลไม้ดอกในวงศ์กุหลาบ ที่มีผลนำมาทานได้ สตรอเบอรี่มีมากกว่า 20 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ สตรอเบอรี่สวน
สตรอเบอรี่อุดมไปด้วยสารต่อต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดทั้งวิตามินซี วิตามินเอ สารเคอซิติน เคมเพอรอล และแอนโทไซยานิน ช่วยในการยับยั้งสารก่อมะเร็ง ช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน และเพิ่มภูมิต้านทานต่อโรคต่างๆ อีกด้วย
เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นในปริมาณที่เท่ากันแล้ว พบว่าพลังในการต้านอนุมูลอิสระของสตรอเบอรี่นั้นสูงกว่าส้มถึงหนึ่งเท่าครึ่ง และยังสูงกว่าองุ่น กีวี กล้วยหอม และมะเขือเทศอีกด้วย
หากเราต้องการสารอาหารเหล่านี้อย่างครบถ้วน ก็ต้องทานผลสตรอเบอรี่แบบสดๆ แต่จะต้องนำมาล้างทำความสะอาด เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและยาฆ่าแมลงตกค้าง เพราะสตรอเบอรี่เป็นผลไม้ที่ปลูกคลุมดิน วิธีการกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรบ้านเราก็คือ การใช้ยาฆ่าแมลง ที่นิยมใช้มีอยู่ 4 กลุ่มคือ ออร์กาโนคลอรีน ออร์กาโนฟอสเฟต คาร์บาเมต และกลุ่มไพรีทรัม
หากเกษตรกรมีวิธีการใช้ที่ผิด หรือเว้นระยะการเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้องตามที่กำหนด อาจทำให้สตรอเบอรี่มียาฆ่าแมลงตกค้างได้
เมื่อเราทานเข้าไปอาจทำให้เกิดพิษทั้งแบบเรื้อรัง และเฉียบพลันต่อร่างกาย เบาะๆเริ่มต้นด้วยคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนศีรษะ มีอาการทางระบบประสาท สั่นกระตุกที่หนังตา ใบหน้า ลำคอ ชักและหมดสติ และอาจสะสมในร่างกายจนเป็นมะเร็งได้
ช่วงนี้เป็นฤดูของสตรอเบอรี่ สถาบันอาหารจึงสุ่มตัวอย่างสตรอเบอรี่สดๆ จำนวน 5 ตัวอย่างจาก จ.เชียงใหม่ แหล่งปลูกสำคัญของไทย เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้าง 4 กลุ่ม (รวม 67 ชนิด)
ปรากฏว่าพบยาฆ่าแมลงชนิดไซเพอร์เมทรินตกค้างในสตรอเบอรี่ 1 ตัวอย่าง แต่พบในปริมาณไม่มาก
เพื่อความปลอดภัยก่อนทานทุกครั้งต้องล้างน้ำไหลผ่านให้สะอาด หรือนำไปแช่ในน้ำเกลือ (ใช้เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตร) นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด เท่านี้ก็สามารถลดปริมาณยาฆ่าแมลงที่ตกค้างลงได้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น